เปลี่ยนภาษา:  English

เกี่ยวกับคณะ

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

         

      คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เริ่มเปิดทำการในปี พ.ศ.2557 โดยเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรเดียว คือ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ศูนย์ลำปาง รุ่นที่ 1 ในปีการศึกษา 2557 การเรียนการสอนและการดำเนินงานยังประจำอยู่ที่ศูนย์รังสิต ในปีการศึกษา 2559 คณะได้จัดตั้งสำนักงาน ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ห้องพักอาจารย์และห้องพักนักศึกษา ได้รับสนับสนุนอัตรากำลังทำให้เริ่มเปิดการเรียนสอนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และสถิติพื้นฐานให้แก่นักศึกษาคณะสาธารณสุขศาสตร์รุ่นแรก และจัดการเรียนการสอนทุกรายวิชาในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่ศูนย์ลำปาง ทั้งนี้การบริหารหลักสูตร การจัดการการรับเข้าและการประชาสัมพันธ์ยังดำเนินการจากศูนย์รังสิต  

      คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์ลำปาง ได้รับความกรุณาอย่างสูงจาก คุณบุญชู ตรีทอง อดีตรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลำปาง ในการสนับสนุนค่าเล่าเรียนให้กับนักศึกษา ตั้งแต่รหัสปี 2559 จนถึงปัจจุบันเป็นทุนการศึกษาทั้งสิ้นเกือบ ล้านบาท และความมุ่งมั่นอันแรงกล้าของ คุณบุญชู ตรีทอง ในการสร้างคนและพัฒนาประเทศไทยด้วยการศึกษา ท่านจึงบริจาคทรัพย์สินส่วนตัวจำนวน 100 ล้านบาทเพื่อสมทบกับงบประมาณของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สมทบอีก 50 ล้านบาท ในการก่อสร้างอาคารบุญชูปณิธาน (BOONCHOO RESOLUTION BUILDING) เพื่อขยายการจัดการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและ วิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้แก่ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะอื่น ๆ ที่จะเปิดเพิ่มเติม อาคารบุญชูปณิธาน เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2557 ประกอบพิธียกเสาเอก เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2558 และก่อสร้างแล้วเสร็จวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2561  ปัจจุบันเป็นที่ทำการหลักของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะสาธารณสุขศาสตร์ และสถาบันภาษา 

      ในปี พ.ศ.2564 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์ลำปาง มีอาจารย์ประจำในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์และสถิติ ฟิสิกส์ เคมี และเทคโนโลยีชีวภาพ รวมทั้งสิ้น 11 อัตรา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก 9 คน มีตำแหน่งทางวิชาการ 1 คน (ผศ.) อยู่ระหว่างลาศึกษาต่อ 1 คน มีบุคลากรสายสนับสนุนทั้งสิ้น 5 คน บุคลากรส่วนใหญ่จะมีอายุการปฏิบัติงานอยู่ที่ 3 – 4 ปี จุดแข็งของคณะได้แก่การมีบุคลากรที่มีศักยภาพในการทำวิจัยและผลิตผลงานทางวิชาการ ดังยืนยันได้จากจำนวนผลงานวิจัยย้อนหลังห้าปีของบุคลากร และงบประมาณทุนวิจัยที่บุคลากรได้รับ ซึ่งปัจจุบันผลงานวิจัยย้อนหลังห้าปีในฐานข้อมูล Scopus คณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์ลำปางมีจำนวนทั้งสิ้น 30 ผลงาน ในรอบห้าปีที่ผ่านมาอัตราการเพิ่มขึ้นของผลงานวิจัยอยู่ที่ร้อยละ 100 และจำนวนบุคลากรที่ผลิตผลงานวิจัยเพิ่มขึ้นในรอบห้าปี เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 33.3  ผลงานวิจัยของคณาจารย์ส่วนใหญ่อยู่ในสาขาที่สอดคล้องกับการพัฒนา S-Curve (ดังแสดงในรูปที่ 1) ในการผลิตผลงานวิจัยนั้นบุคลากรของคณะมีการส่งข้อเสนอขอทุนวิจัยและได้รับสนับสนุนทุนวิจัยอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 รวมมูลค่าทุนวิจัยที่ได้รับจัดสรร 7,595,800 บาท โดยร้อยละ 82 เป็นทุนวิจัยจากภายนอก 

อาคารบุญชูปณิธาน

ตึกบุญชูปณิธาน
อาคารบุญชูปณิธาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เปิดอาคารอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2562

“เราสร้างสังคมวิชาการที่มีความสุข มีพลัง มุ่งสู่การมีมาตรฐานขั้นสูง อัตลักษณ์ของเรา คือ การมีส่วนร่วมพัฒนาองค์ความรู้ใหม่เชิงวิทยาศาสตร์บูรณาการเพื่อการใช้งานจริง ที่ขับเคลื่อนด้วยความร่วมมือ ด้วยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับพันธมิตรทั้งภายในและต่างประเทศ”

Rewards

Support Budget

%

Students GPA ≥ 2.75

Student Achievements

หลักสูตรในปัจจุบัน

         หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ศึกษาที่ธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง 

“ให้คำมั่นที่จะนำนักศึกษาไปยังศักยภาพสูงสุด
สนับสนุนการสร้างนวัตกรรมจากความร่วมมือ ส่งเสริมการใช้ชีวิตและการเรียนอย่างมีความสุข สร้างบัณฑิตที่รู้ลึก รอบด้าน ทำงานเก่ง”
 

 เน้นการฝึกทักษะปฏิบัติ การผลิตผลงานซอฟต์แวร์ชาญฉลาด (AI-Driven Software) ระบบไอโอที (Internet of Things) วิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) และการประมวลผลบนระบบคำนวณขั้นสูง (High Performance Computing) นักศึกษาที่นี่จะได้เรียนวิชาที่คณาจารย์ศูนย์ลำปางมีความเชี่ยวชาญ ในบางรายวิชาเชี่ยวชาญเฉพาะ นักศึกษาจะได้เรียนกับคณาจารย์จากศูนย์รังสิตที่เดินทางมาสอน ณ ศูนย์ลำปาง นักศึกษาที่นี่ จึงได้รับการถ่ายทอดความรู้ที่ผนวกความเชี่ยวชาญของอาจารย์จากทั้ง ศูนย์รังสิตและศูนย์ลำปางไว้ด้วยกัน 

ส่งเสริมทักษะที่จำเป็นแก่อนาคตของบัณฑิต

      เราสร้างสังคมวิชาการที่มีความสุข มีพลัง มุ่งสู่การมีมาตรฐานขั้นสูง อัตลักษณ์ของเรา คือ การมีส่วนร่วมพัฒนาองค์ความรู้ใหม่เชิงวิทยาศาสตร์บูรณาการเพื่อการใช้งานจริง ที่ขับเคลื่อนด้วยความร่วมมือ ด้วยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับพันธมิตรทั้งภายในและต่างประเทศ