ห้องสมุดบุญชู ตรีทอง
ประวัติห้องสมุดบุญชู ตรีทอง
ห้องสมุดบุญชู ตรีทอง คือชื่อห้องสมุดประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ซึ่งที่ประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีมติ ตั้งชื่อ “ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง” เป็น “ห้องสมุดบุญชู ตรีทอง” เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2553 เพื่อเป็นเกียรติแก่ ฯพณฯ ท่านบุญชู ตรีทอง ซึ่งเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง อย่างต่อเนื่อง
ความเป็นมาของห้องสมุดบุญชู ตรีทอง
- พ.ศ.2540 จัดตั้งห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดตั้งพร้อมกับโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง โดยมหาวิทยาลัยฯ ใช้อาคารศาลากลางหลังเดิมของจังหวัดลำปาง เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนและการบริหาร ห้องสมุดมีพื้นที่ 118 ตารางเมตร มีหนังสือเพียงเล็กน้อย มีบุคลากรเพียง 1 คน
- พ.ศ.2545 ได้รับจัดสรรงบประมาณในการจัดซื้อทรัพยากรสารสนเทศจากสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- พ.ศ.2546 ได้ย้ายจากอาคารศาลากลางหลังเดิมมาอยู่ที่ชั้น 1 อาคารสิรินธรารัตน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง มีพื้นที่ 650 ตารางเมตร
- พ.ศ.2547 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง และสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำข้อตกลงร่วมกันในการร่วมบริหารและพัฒนาห้องสมุดศูนย์ลำปาง โดยสำนักหอสมุดดูแลรับผิดชอบงานเทคนิคและงานบริการของห้องสมุด ส่วนงานด้านบริหารจัดการอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
- พ.ศ.2554 ได้มีการปรับปรุง ขยายพื้นที่ให้บริการขึ้นไปที่ชั้น 2 ห้องสมุดจึงมีพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 1,060 ตารางเมตร และในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 ฯพณฯ บุญชู ตรีทอง ได้บริจาคเงินสนับสนุน จำนวน 2 ล้านบาท ให้แก่ห้องสมุดบุญชู ตรีทอง เพื่อพัฒนาให้เป็นห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (E-library)
- พ.ศ.2558 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีนโยบายให้ก่อสร้างอาคารนวัตกรรมบริการขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เพื่อให้เป็นอาคารศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ศึกษาค้นคว้า และให้บริการทางด้านวิชาการแก่ประชาคมธรรมศาสตร์ ส่วนราชการ เอกชน ภายในจังหวัดลำปาง และพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง ตลอดจนบุคคลทั่วไป โดยห้องสมุดบุญชู ตรีทอง ตั้งอยู่ที่อาคารนวัตกรรมบริการ โซน A ชั้น 2-5
- พ.ศ.2560 ฯพณฯ ท่านบุญชู ตรีทอง ได้สมทบทุนสนับสนุน จำนวน 10,000,000 บาท เพื่อการขยายห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ อาคารนวัตกรรมบริการ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560
ห้องสมุดบุญชู ตรีทอง ขนย้ายทรัพยากรสารสนเทศ ครุภัณฑ์และวัสดุ จากอาคารสิรินธรารัตน์ ไปยังห้องสมุดบุญชู ตรีทอง อาคารนวัตกรรมบริการ ระหว่างวันที่ 1-30 กันยายน 2560 ห้องสมุดบุญชู ตรีทอง ได้โอนย้ายมาสังกัดหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2560
พิธีเปิดอาคารนวัตกรรมบริการ และพิธีเปิดห้องสมุดบุญชู ตรีทอง ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2560
ปัจจุบัน ห้องสมุดบุญชู ตรีทอง อาคารนวัตกรรมบริการ เปิดให้บริการชั้น 2-3 มีพื้นที่ให้บริการทั้งหมด 4,316 ตารางเมตร ดังนี้
– ชั้น 2 ประกอบไปด้วย โซนสืบค้นข้อมูล, นวนิยาย วรรณกรรม, วารสารใหม่, ห้องประชุมกลุ่มย่อย 1 – 2, หนังสือต่างประเทศ, หนังสือภาษาไทย, คอมพิวเตอร์เพื่อผู้สูงวัย, สื่อมัลติมีเดียเพื่อการเรียนรู้, โซนอ่านหนังสือ, โซนยืมหนังสืออัตโนมัติ หนังสือเลขหมู่ระบบใหม่ และโซนคืนหนังสืออัตโนมัติ
– ชั้น 3 ประกอบไปด้วย ห้องอบรมฐานข้อมูลห้องสมุด 1 – 2, จุดบริการ IPAD, ห้องประชุมกลุ่มย่อย 3 – 9, โซนอ่านหนังสือ, หนังสืออ้างอิงวิทยานิพนธ์, วารสารฉบับย้อนหลัง, คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้ผ่านอินเตอร์เน็ต, สื่อมัลติมีเดียเพื่อการเรียนรู้, บริการตอบคำถาม, โซนสืบค้นข้อมูล, โซนพักผ่อน และโซนเงียบ
บริการของห้องสมุด
- KOHA: ระบบค้นหาหนังสือและโสตทัศนวัสดุ ระบบค้นหาทรัพยากรสารสนเทศในรูปแบบฉบับพิมพ์ ได้แก่ หนังสือ วารสาร เอกสาร และโสตทัศนวัสดุที่มีให้บริการในห้องสมุด
- WORLDCAT & WORLD SHARE ILL: ระบบค้นหาทรัพยากรในห้องสมุดทั่วโลก ระบบค้นหาทรัพยากรสารสนเทศในห้องสมุดเครือข่ายของ OCLC (Online Computer Library Center) ซึ่งเป็นเครือข่ายห้องสมุดนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผู้ใช้บริการสามารถค้นหาและยืมหนังสือระหว่างห้องสมุดในเครือข่ายของ (OCLC Online Computer Library Center) ได้ทั่วโลก
3. TUIDX: ระบบค้นหาบทความวารสาร แหล่งค้นหาบทความวารสารที่สำนักหอสมุดบอกรับ นักศึกษาสามารถสืบค้นบทความที่ต้องการ และจดรายละเอียดเกี่ยวกับฉบับพิมพ์ เพื่อนำข้อมูลฉบับพิมพ์ไปขอยืมตัวเล่มวารสารจากเจ้าหน้าที่หอสมุดได้ กรณีที่เป็นบทความอิเล็กทรอกนิกส์ นักศึกษาจะสามารถเข้าถึงเอกสารฉบับเต็มได้ทันที
4. TU DIGITAL COLLECTIONS: ระบบค้นหาทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์ ระบบค้นหาทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลของห้องสมุด
5. Book Suggestion: บริการแนะนำหนังสือเข้าห้องสมุด หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดโอกาสให้สมาชิกห้องสมุดทุกท่านแนะนำหนังสือและสื่อเข้าห้องสมุด โดยท่านสามารถแนะนำหนังสือที่เห็นว่ามีคุณค่าและมีประโยชน์ควรค่าแก่การอ่าน หรือ เป็นหนังสือที่พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่การศึกษา การวิจัย หรือ เป็นหนังสือที่ห้องสมุดควรมีให้บริการเพื่อตอบสนองผู้ใช้บริการในหลากหลายกลุ่ม เป็นต้น
6.Book Delivery: บริการยืมระหว่างห้องสมุด บริการนี้สำหรับนักศึกษา อาจารย์ บุคลากรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกสมทบ
รูปภาพ